วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้สัมผัสเรื่องหยาบและละเอียด

กิจกรรมนี้สอนเรื่องความแตกต่างระหว่างพื้นผิว โดยผมเอาวิธีทำกิจกรรมมาจากหนังสือ ฝึกให้หนูลงมือทำกิจกรรมตามแนวคิดมอนเตสซอรี (เขียนโดย Maja Pitamic) เตรียมได้ง่ายและสอนให้เด็กรู้จักความหยาบและเรียบโดยใช้กระดาษทราย กระดาษทรายเป็นวัสดุที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสได้ดี และแสดงความตรงข้ามระหว่าพื้นผิวหยาบและเรียบได้อย่างชัดเจน ก่อนเริ่มกิจกรรมผมก็พานาฟต้าไปล้างมือก่อนครับเพื่อให้นิ้วไวต่อการสัมผัส

อุปกรณ์
- กระดาษทรายแบบหยาบ (ผมหามาได้เป็นเบอร์ 4 ครับ)
- กระดาษทรายแบบเรียบ (ผมใช้เบอร์ 0 ครับป
- ภาชนะสำหรับใส่กระดาษทราย

เตรียมกระดาษทรายแต่ละชนิดโดยตัดออกเป็น 6 ชิ้น ใส่ในภาชนะ แล้วให้เด็กนั่งทางด้านซ้ายของเราครับ จะได้เห็นเวลาเราสาธิตได้ชัดเจน วางชามใส่กระดาษทรายไว้ด้านหน้า แล้วก็นำชิ้นกระดาษทรายออกมาว่างเป็นแถวด้านหน้านาฟต้า (โดยให้กระดาษทรายแบบหยาบและเรียบปนกัน) เหมือนในรูปครับ


ใช้ปลายนิ้วกลางและนิ้วนางลูบกระดาษทรายแต่ละชิ้นที่เรียงเป็นแถวโดยเริ่มจากด้านซ้าย เมื่อลูบกระดาษทรายหยาบก็ให้พูดว่า "หยาบ" แล้วนำกระดาษชิ้นนั้นไปวางทางด้านซ้ายมือ แล้วก็ลูบกระดาษทรายชิ้นใหม่เพื่อหาชิ้นที่เรียบ เมื่อพบก็ให้พูดคำว่า "เรียบ" จากนั้น นำชิ้นกระดาษทรายที่เรียบไปวางไว้ทางด้านขวามือ พอหมดแล้วผมก็ส่งกระดาษทรายทั้ง 2 ชิ้นให้นาฟต้าดู และบอกให้นาฟต้าลองสัมผัสดูที่ผิวกระดาษทรายถ้าเค้าสัมผัสกระดาษทรายหยาบ เราก็บอกเค้าว่ามันหยาบ ถ้าเค้าสัมผัสกระดาษทรายเรียบ เราก็บอกเค้าว่าเรียบครับ และก็ให้นาฟต้าพูดตามไปด้วย ทีนี้ก็ให้นาฟต้าแยกกระดาษทรายทีเรียงอยู่ออกเป็นกองอย่างที่เราทำให้เค้าดูตอนแรก

รอบสุดท้ายก็นำกระดาษทรายทั้งหมดมาคละกันในชามแล้วก็ให้นาฟต้าแยกกระดาษทรายแบบหยาบและเรียบออกจากกันครับ


ไม่รู้ว่านาฟต้าเห็นว่ากิจกรรมนี้มันง่ายหรือว่าผมเอามาให้ทำในช่วงเช้าเกินไป นาฟต้าทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็ไม่ร้องขอทำอีกเหมือนกิจกรรมอื่นๆเลยครับ แต่อย่างน้อยเจ้าตัวยุ่งนาฟต้าก็สามารถแยกกระดาษทรายหยาบกับเรียบได้โดยไม่มีผิดเลยสักอันเดียว และหลังจากทำกิจกรรมนี้แล้วทั้งวันเวลาผมเจออะไรก็จะคอยถามนาฟต้าอยู่ตลอดว่าของนั้นเรียบ หรือหยาบ เช่น โซฟาหนังกับโซฟาผ้า เปลือกต้นไม้กับใบไม้ กางเกงยีนของป่าป๊ากับกระโปรงผ้าของม่าม๊า ถือเป็นการเรียบรู้กับสิ่งรอบตัวไปด้วยครับผม แต่ถ้านำกิจกรรมไปทำกับเด็กเล็กแล้วเด็กตอบผิดก็อย่างเครียดนะครับ ให้เก็บไปก่อน แล้วค่อยเอาออกมาทำใหม่วันหลังครับผม (ตอนทำกิจกรรมนี้ นาฟต้าอายุ 2 ขวบ 6 เดือนครับ)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น