วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ตอนระบบสุริยะ

หลังจากที่ได้ไปงานวันวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับลูกชาย เมื่อสัปดาห์ก่อนและได้ของติดไม้ติดมือกลับมาเป็นแผนที่ดวงดาวแบบ 3 มิติ และหนังสือรายละเอียดดวงดาวที่อยู่ในระบบสุริยะของเรา นาฟต้าก็ติดอกติดใจเรื่องราวเกี่ยวกับระบบสุริยะเป็นอย่างมาก ผมก็เลยคิดทำโมเดลจำลองการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของเหล่าดาวบริวารทั้งหลายให้นาฟต้าได้ดู โมเดลที่ผมออกแบบนี้จำลองจากโมเดลที่เคยเห็นในเว็บต่างประเทศที่สวยงามมากครับ แต่ปรับมาใช้วัสดุในบ้านที่หาเอามาทำได้ง่ายๆครับ
โดยเริ่มแรกก็ให้ลูกชายช่วยผมวาดภาพดาวบริวารทั้ง 8 ลงบนกระดาษ โดยผมเป็นคนปรับสเกลให้มีขนาดเล็กลง แต่ยังคงสัดส่วนให้ตรงตามรายละเอียดจริงในหนังสือที่ได้มา ก็จะได้ขนาดของดาวตามที่เห็นในภาพด้านล่าง แล้วก็ให้ลูกชายช่วงระบายสีให้ได้สีใกล้เคียงกับภาพในหนังสือเท่าที่ทำได้ครับ



จากนั้นสองพ่อลูกก็ช่วยกันสำรวจรอบบ้านเพื่อหาสิ่งของทรงกลมที่ไม่ได้ใช้แล้ว ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวต่างๆ ที่วาดไว้เมื่อสักครู่ เพื่อเอามาทำเป็นดวงอาทิตย์และดาวบริวารครับ 


เมื่อได้ดาวครบตามที่ต้องการแล้วก็เอาสีอคลีลิคมาระบายบนทรงกลมต่างๆให้ได้สีตามที่ต้องการและใกล้เคียงดาวนั้นๆ เท่าที่จะทำได้ ย้ำครับเท่าที่จะทำได้ ดาวบางดวงอย่างยูเรนัสกับเนปจูนนี้ไม่รู้จะผสมสียังไงเลยครับ ก็ระบายไปเท่าที่ทำได้จริงๆ


ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะ ฝึมือนาฟต้า
เมื่อทำดาวเคราะห์จำลองครบตามที่ต้องการแล้วผมใช้ปึนกาวยึดดาวต่างๆ ติดกับลวดเส้นขนาดกลางเพื่อให้สามาถไปพันติดกับแกนที่ทำจากท่อพีวีซีได้ โดยผมเรียงลำดับการติดขดลวดไล่ไปตามลำดับของระบบสุริยะ คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนฟจูน ครับ แต่ละชั้นของลวดที่ไปพันกับแกนพีวีซีผมจะเอายางรับเอาไว้ไม่ให้มันเลื่อนมาชนกัน จากนั้นก็ดัดเส้นลวดให้เป็นตัว L เพื่อให้ดาวเคราะห์มาอยู่ในระดับเดียวกันอย่างที่เห็นในรูปครับ

โมเดลระบบสุริยะอย่างง่าย สำหรับเด็กๆ

เราก็จะได้แบบจำลองระบบสุริยะ ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ได้ สอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องระบบสุริยะและการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ต่างๆ ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนกันเลยทีเดียวครับ

ดาวเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์อย่างนี้นี่เอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น